“เต้าเจี้ยวหลน”
อาหารไทยๆ อีกอย่างหนึ่ง ที่มีผู้นิยมกันมากพอสมควร อร่อย นิ่มนวลชวนรับประทานจมากค่ะ
“เต้าเจี้ยวหลน” นี้เป็นอาหารจานโปรดของคนไทยเรามาช้านานแล้วเช่นเดียวกัน “เต้าเจี้ยวหลน” ทำมาจากถั่วเหลือง และถั่วเหลืองก็มีคุณค่าทางโภชนาการมากมาย คือ มีโปรตีนสูงเทียบเท่ากับเนื้อสัตว์ในปริมาณเท่าๆ กันอีกด้วย
“เต้าเจี้ยวหลน” นี้มีคุณค่าของสารอาหารอีกอย่างก็คือ มีไขมันจากกะทิ ไขมันจากถั่วเหลือง มีโปรตีนจากเนื้อหมูสับพร้อมทั้งไขมันจากมันหมูที่ติดอยู่ นอกจากนี้ก็มีเกลือแร่ต่างๆ วิตามินต่างๆ จากน้ำส้มมะขามเปียก พริกชี้ฟ้า ผักดิบ ผักสดต่างๆ อีกหลายๆอย่าง ที่เอามาเป็นผักจิ้ม มีสารอาหารต่างๆ มากมายนัก น่ารับประทาน เพราะเป็นอาหารที่เหมาะสมอร่อยมีประโยชน์มาก
ข้อสำคัญเป็นอาหารไทยๆ เรามาแต่ก่อน บรรพบุรุษท่านประกอบอาหารประเภทนี้รับประทานกันมาจนทุกวันนี้ก็ยังปรากฏอยู่ เป็นที่นิยมรับประทานกันเสมอ แต่ทว่าน่าเสียดายที่คนรุ่นใหม่ทั่วไปนี้อาจจะไม่ค่อยได้สัมผัสกับอาหารจานนี้สักกี่มากน้อย เพราะบาทีก็อาจจะยังไม่เคยรับประทานเลยก็ได้
“เต้าเจี้ยวหลน” มีเครื่องปรุงอะไร มีวิธีการปรุงอย่างไรบ้าง โปรดพิจารณากันต่อไปได้เดี๋ยวนี้
ส่วนผสม “เต้าเจี้ยวหลน”
1. เต้าเจี้ยวเหลืองอย่างแห้ง 1 ถ้วย
2. เนื้อหมูสับละเอียดหรือบด 1 ถ้วย
3. กุ้งกุลาดำตัวเล็กสับละเอียด 10 ตัว
4. หอมแดง 7 หัว
5. พริกชี้ฟ้าแดง เขียวทั้งเม็ด 5 เม็ด
6. น้ำปลาดี 1 ช้อนโต๊ะ
7. น้ำตาลปี๊บ 1 ช้อนโต๊ะ
8. น้ำส้มมะขามเปียก 2 ช้อนโต๊ะ
9. กะทิสำเร็จรูป 1ซอง/กล่อง
วิธีทำ
ก่อนอื่นเอาหางกะทิเคี่ยวให้แตกมัน เอาหัวกะทิแยกออกมาเคี่ยวต่อ เอาหางกะทิแยกไว้ จัดการโขลกเต้าเจี้ยวที่เตรียมเอาไว้ให้ละเอียดเอาหอมแดงลงโขลกด้วย เคี่ยวหัวกะทิเดือดเอาเครื่องปรุงใส่เข้าไปคือเต้าเจี้ยวกับหอมแดงที่โขลกนั่นเอง คนให้ทั่วกัน ใส่หางกะทิลงไปอีก
ตอนนี้ก็เอาหมู กุ้ง ที่สับละเอียดใส่ลงไปอีก พอเดือดก็คนได้ คนให้เข้ากัน ใส่พริกชี้ฟ้าแดงเขียวทั้งเม็ด ปรุงรสด้วยน้ำส้มมะขามเปียกคั้น น้ำปลาดี น้ำตาลปี๊บ ลองชิมดูว่ารสพอดีแล้วหรือยัง ถ้ายังก็เติมเครื่องปรุงรสได้อีก จนกระทั่งทุกสิ่งทุกอย่างลงตัวหมด อร่อยแล้วก็ยกลงจากเตา เตรียมเอาไปรับประทานได้กับผักดิบ ผักสดต่างๆ ที่เตรียมเอาไว้ นั่นก็ได้แก่ แตงกวา มะเขือเปราะ ถั่วพู ถูกกันดีมาก โดยเฉพาะแตกกวากับมะเขือเปราะ
“เต้าเจี้ยวหลน” อาหารที่มีรสชาติดีของคนไทย มีเครื่องปรุงและวิธีการอย่างนี้เองค่ะ ความจริงก็ไม่ยากลำบากอะไรนักหรอก รับประทานกับข้าวสวยร้อนๆ ถูกกันดี คลุกกับข้าวสวยร้อนๆ ก็ยังได้อีก ได้รสชาติดีไปอีกแบบหนึ่ง “เต้าเจี้ยวหลน” รสออกหวานนำ เค็ม เปรี้ยวตามเด็กๆ จึงรับประทานได้ดีมาก ผู้ใหญ่ก็ชอบใจที่ได้ลิ้มรสชาติอาหารชนิดนี้ เกลือแร่ วิตามินจากผักดิบ ผักสดมากมายหลายอย่างนั้นมีอยู่ ซึ่งคุณอาจจะเอาผักดิบอื่นๆ มารับประทานร่วมด้วยก็ได้อีก เป็นต้นว่า ต้นหอม หอมแดง สายบัว ผักกาดหอม ผักกาดขาว ถั่วฝักยาว อย่าลืมนะคะ ว่างๆ ก็ปรุงอาหารนี้รับประทานกันบ้าง เพราะเป็นอาหารที่ดี มีคุณค่าทางโภชนาการมากมายเชียวค่ะ
“แจ่ว”
เครื่องจิ้มรสเด็ดที่สำคัญและมีความพิเศษสุดของชาวอีสานก็เป็น “แจ่ว” นี้แหละค่ะ ใครๆ ก็รู้จัก “แจ่ว” ทั้งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนอีสาน หรือชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหลาย “แจ่ว” มีบทบาทมากมายสำหรับชีวิตของชาวอีสานจริงๆ อาหารในแต่ละมื้อของชาวอีสาน แจ่วมักจะมีส่วนเข้าไปร่วมวงสำรับกับข้าวด้วยเสมอ ขาดไม่ได้ อะไรๆ ก็เอา “แจ่ว” เป็นเครื่องจิ้ม ข้าวเหนียวปั้นก็เอาไปจิ้มแจ่วได้
ปลาย่าง ปลาเผา ก็เอา “แจ่ว” ไปจิ้มได้
ปลานึ่งก็เอา “แจ่ว” นี้แหละจิ้ม จะได้รส “แซ่บเสมอ เนื้อย่าง เนื้อปิ้ง ก็เอา “แจ่ว” มาจิ้ม “แจ่ว” จึงเหมือน “น้ำปลาพริกมะนาว” ของคนภาคกลาง เพราะคนภาคกลางชอบที่จะเอาถ้วย “น้ำปลาพริกมะนาว” ถ้วยเล็กๆ มาร่วมโต๊ะ อาหารทุกมือๆ เหมือนกันอะไรที่ไม่เค็มก็ใช้ “น้ำปลาพริกมะนาว” นี้เองเติมหรือจิ้มอาหารที่ไม่อร่อยก็จะเกิดความอร่อยขึ้นมาทันที “แจ่ว” ปรุงได้ไม่ยากลำบากอะไรหรอกค่ะ แต่ “แจ่ว” นั้น เมื่อปรุงเสร็จแล้วเอาไปรับประทานก็มีรสดีจริงๆ อาหารอีสาน หรืออาหารของพี่น้องทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น เครื่องปรุงที่เป็นหลักก็ได้แก่ “ปลาร้า” ได้ “ปลาร้า” ค้างปีก็ยิ่งวิเศษ จะเกิดความ “แซ่บ” มากยิ่งขึ้น อาหารพิเศษถ้วยเด็ดถ้วยนี้ของชาวอีสาน ปรากฏว่ามีคุณค่าทางโภชนาการไม่น้อยเลยค่ะ เพราะมีโปรตีนจากปลาร้ากับปลาป่นคั่ว (เสริมเข้ามาอีกอย่างหนึ่ง)
เกลือแร่ วิตามินต่างๆ ก็มีจากผักดิบ ผักสดอีกหลายชนิดด้วยกัน เนื่องจากแจ่วเป็นเครื่องจิ้มที่มีความหมายจากชาวอีสานมากนั่นเอง ภาคกลางหรือภาคไหนๆ ก็ชอบค่ะ ถ้ารับประทานรสเผ็ดได้ รสเผ็ดของพริกขี้หนูคั่วป่นนั้นอร่อยจนพูดไม่ถูก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น